วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การให้ข้อเสนอแนะ หัวใจสำคัญของการประเมิน



สมศ. ได้รวบรวมปัญหาที่เป็นจุดอ่อนของผู้ประเมินที่นับว่ามีความสำคัญมากประการหนึ่ง คือ  *การให้ข้อเสนอแนะต่อสถานศึกษา   โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานศึกษาที่ไม่ได้รับการรับรอง โดยหลักการของการให้ข้อเสนอแนะนั้นต้องมีความเหมาะสมกับบทบาทและอำนาจหน้าที่ของสถานศึกษาที่พึงปฏิบัติได้ และเหมาะสมกับศักยภาพและทรัพยากรที่มีอยู่  ข้อเสนอแนะต้องตรงประเด็นปัญหา เป็นรูปธรรม สอดคล้องกับผลการประเมินคุณภาพภายนอกและบริบทของสถานศึกษา สามารถนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของสถานศึกษาได้ มีการกำหนดระยะเวลาในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาที่เหมาะสมและเป็นไปได้ และเป็นที่ยอมรับของผู้เกี่ยวข้อง
ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการประกันคุณภาพตามระบบมาตรฐาน ISO (International Standardization and Organization)  ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ให้การรับรองระบบการจัดการองค์กรที่มีคุณภาพมาหลายปี ทั้งในองค์กรระดับมหาวิทยาลัยและองค์กรภาคเอกชนที่มีผลผลิตส่งออกต่างประเทศ  ความแตกต่างที่ผู้เขียนเห็นในเรื่องของการให้ข้อเสนอแนะต่อองค์กร คือ ผู้ประเมินภายนอกในฐานะตัวแทนของ สมศ. จะต้องมีหน้าที่ในการให้ข้อเสนอแนะ เพื่อให้สถานศึกษาปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องในส่วนที่เป็นจุดอ่อนหรือปัญหาเพื่อนำไปสู่การพัฒนางาน ต่างกับระบบ ISO ที่ผู้ประเมิน มีหน้าที่ในการชี้ให้องค์กรให้เห็นข้อบกพร่องในกรณีที่ข้อกำหนดนั้นๆไม่ได้มาตรฐาน หรือเป็นข้อสังเกตซึ่งหากละเลยอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตหรือบริการ โดยในวันสุดท้ายของการรายงานผลการประเมินตามมาตรฐาน ISO ผู้ประเมินจะหารือกับองค์กรหรือถามผู้ถูกประเมินว่า ข้อบกพร่องที่ถูกตรวจพบนี้  เกิดจากปัญหาอะไร  จะมีแนวทางในการแก้ไขอย่างไร ใช้ระยะเวลาในการแก้ไขเท่าไร  เป็นการปรึกษาหารือร่วมกันทั้งสองฝ่ายโดยผู้เสนอการแก้ไขคือองค์กรเอง จากนั้นองค์กรต้องส่งแผนการแก้ไข แนวทางการป้องกันที่ไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก และระยะเวลาของการแก้ไขให้แล้วเสร็จ พร้อมทั้งระบุหน่วยงานที่รับผิดชอบการแก้ไขจัดส่งให้หน่วยงานประเมินหรือคณะผู้ประเมินภายในเวลาที่กำหนด
ผู้เขียนมีเพื่อนที่เป็นผู้บริหารโรงเรียนหลายคน เล่าให้ฟังว่าข้อเสนอแนะที่ผู้ประเมินแนะนำมานั้น (ในรอบที่หนึ่งและสอง) บ้างเรื่องเป็นประโยชน์สามารถปฏิบัติได้  เห็นด้วย  แต่บางเรื่องไม่ค่อยจะเห็นด้วยเพราะยากต่อการปฏิบัติ  เช่น  เรื่องงบประมาณ  เรื่องการระดมทรัพยากรจากชุมชนที่มีฐานะยากจน เป็นต้น แต่ที่ไม่โต้แย้งหรือชี้แจงในวันสุดท้ายของการประเมินนั้น เพราะไม่อยากขัดกับผู้ประเมินเกรงว่าผลการประเมินจะไม่ได้รับการรับรอง
ผู้เขียนเห็นด้วยกับแนวทางการให้ข้อเสนอแนะของมาตรฐาน ISO มากกว่าแนวทางของ สมศ. ซึ่งเป็นวิธีการแก้ไขที่ได้กระทำร่วมกันระหว่างองค์กรกับผู้ประเมิน แต่อย่างไรก็ตามการให้ข้อเสนอแนะตามแนวทางของการประเมินภายนอกรอบที่สามที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้น สมศ.มีการปรับเปลี่ยนไปในแนวทางที่ดีขึ้น เพราะการให้ข้อเสนอแนะใดๆ ก็ตามโรงเรียนต้องสามารถปฏิบัติได้ และสอดคล้องกับบริบทและทรัพยากรที่มีอยู่ 
ถึงแม้บางท่านอาจจะคิดว่ามาตรฐาน ISO (มาตรฐานการบริหารจัดการที่ดี) เหมาะกับองค์กรเอกชน หรือโรงงานอุสาหกรรมมากกว่าองค์กรทางการการศึกษา แต่ในบางเรื่องของระบบ ISO ก็เป็นข้อดีที่เราสามารถดึงมาปรับใช้ประโยชน์ได้ เช่น คำขวัญประจำหน่วยงานที่เขียนขึ้นจากแนวคิดตามปรัชญา วิสัยทัศน์ พันธกิจ....ที่สะท้อนให้เห็นถึงจุดเด่นขององค์กร เช่น  ธนาคารออมสิน : มั่นคง จริงใจ รับใช้ประชาชน”   โทรทัศน์ ช่อง 3 : คุ้มค่าทุกนาที ดูทีวีสีช่อง 3  ซึ่งเมื่อเทียบกับตัวบ่งชี้ของ สมศ. คือ ตัวบ่งชี้อัตลักษณ์ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็น จุดเด่น จุดเน้น หรือเอกลักษณ์ของสถานศึกษา ขอเพียงเปิดใจกว้างอย่าอคติ  เลือกใช้บางเรื่องที่เป็นประโยชน์ก็อาจจะทำให้ลดปัญหาบางอย่างได้ 
ผู้เขียนได้ฟังท่านผู้อำนวย สมศ. ดร.ชาญณรงค์  พรรุ่งโรจน์  พูดถึงเรื่องข้อเสนอแนะคล้ายๆ สไตล์ของ ISO ตามที่ผู้เขียนพูดไว้ข้างต้น เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๔ ในวันแรกของการอบรมพัฒนาผู้ประเมินภายนอกสำหรับการประเมินรอบสามที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์  แต่ในทางปฏิบัติผู้ประเมินจะได้นำไปใช้หรือไม่  ก็คงต้องดูกันต่อไป  แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าผู้ประเมินจะใช้เทคนิคอย่างไร  ก็ขอให้ผู้บริหารโรงเรียน ครู หรือผู้ได้ฟังข้อเสนอแนะ  ยอมรับด้วยความเต็มใจ  ไม่ใช่ยอมรับอย่างจำใจ

* อ้างอิง เอกสารประกอบการอบรมพัฒนาผู้ประเมินภายนอกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของ     สมศ. หน้าที่ ๒๖ เมื่อวันที่ ๒๘-๓๐ มีนาคม ๒๕๕๔ ณ โรงแรมรามาการ์เด้นท์